การบริหารเชิงกลยุทธ์
การบริหารเชิงกลยุทธ์
การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเกิดจากปัจจัยตัวแปรอย่างน้อยที่สุด 3 อย่างเป็นแรงผลักดันอันสำคัญ คือ
(1) กระแสโลกาภิวัฒน์
(2) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี
(3) เกิดจากการผ่อนคลายกฎระเบียบทางด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ
การจัดการเชิงกลยุทธ์จึงกลายเป็นกลไกอันสำคัญที่ผู้บริหารยุคใหม่นำมาทำให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ
การบริหาร หมายถึง
กระบวนการที่ผู้บริหารจะกำหนดแผนงานให้ผู้ปฏิบัติรับไปปฏิบัติตามกฎ ระเบียบและวิธีการ ที่กำหนดไว้ โดยมีหัวหน้าคอยควบคุมดูแล และช่วยเหลือเพื่อให้งานสำเร็จตามแผนงานและได้ตามวัตถุประสงค์ขององค์การ
ความหมายของกลยุทธ์
กลยุทธ์ หมายถึง แผนหลักขององค์การที่ได้กำหนดไว้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานระยะยาว โดยอาศัยการประเมินภาวะแวดล้อมขององค์การ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความหมายของการบริหารเชิงกลยุทธ์
การวางแผนการดำเนินงานและควบคุมในแนวทางเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กระบวนการวางแผนการดำเนินงานโดยใช้ กลวิธีต่างๆอย่างมีชั้นเชิง สำหรับการ ปฏิบัติงานและควบคุม เพื่อให้องค์การบรรลุ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
คุณสมบัติของผู้บริหารที่ทำหน้าที่กำหนดกลยุทธ์
1.เป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ในธุรกิจชนิดนั้นเป็นอย่างดี
2. เป็นบุคคลที่มองการณ์ไกลมีวิสัยทัศน์ดี
3. เป็นบุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง
4. เป็นบุคคลที่มีความอดทนไม่ท้อแท้
5. เป็นบุคคลที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี
ความสำคัญของการบริหารเชิงกลยุทธ์
1.องค์กรอยู่ภายใต้อิทธิพลสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน เปลี่ยนแปลงมาก
2. วิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ได้ถูกต้อง
3.ทำให้องค์กรสามารถปรับตัว และดำรงต่อไปได้
ขั้นตอนของการบริหารเชิงกลยุทธ์
1. การวางแผนกลยุทธ์ ( Strategic Formulation )
2. การปฏิบัติตามแผนกลยุทธ์ ( Strategic Implementation )
3. การประเมินผลกลยุทธ์ ( Strategic Evaluation )
ชนิดของกลยุทธ์
1.กลยุทธ์ที่ตั้งใจ (intended strategies) ได้แก่ กลยุทธ์ที่ผู้จัดการเสนอแนะ (propose) ออกแบบ (design) และคาดหวัง (expect) ว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ
- เป้าหมาย (goals)
- นโยบาย (policies)
- แผนปฏิบัติงาน (plans)
2. กลยุทธ์ที่เป็นจริง (realized strategies) เป็นกลยุทธ์ตรงข้ามกับกลยุทธ์ที่ตั้งใจ เพราะ เป้าหมาย นโยบายและแผนปฏิบัติงานที่ก่อตัวกันขึ้นเป็นกลยุทธ์ที่ตั้งใจขององค์การนั้น เมื่อถึงเวลานำไปปฏิบัติอาจแตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากก็ได้ เพราะในทางปฏิบัตินั้นกลยุทธ์เริ่มแรกเกือบทุกกลยุทธ์จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ในช่วงที่อยู่ในขั้นการนำแผนไปปฏิบัติ (implementation) เหตุผลก็เนื่องจากว่า สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแผนกลยุทธ์ที่กำหนดไว้เดิมอาจใช้ไม่ได้ผล จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ในบางส่วน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และเพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงนั้นด้วย
แผนกลยุทธ์ที่ตั้งใจไว้แต่เดิมบางส่วนที่ไม่ได้นำไปปฏิบัติเรียกว่า
“กลยุทธ์ที่ไม่ได้นำไปปฏิบัติ” (unrealized strategy) และกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นใหม่ โดยที่ไม่ได้วางแผนมาก่อนเรียกว่า
“กลยุทธ์ฉุกเฉิน” (emergent strategy) ดังนั้น
“กลยุทธ์ที่เป็นจริง” (realized strategy) จึงเป็นการรวมกันของ “กลยุทธ์ที่จงใจ” (deliberate strategy) กับกลยุทธ์ฉุกเฉิน ซึ่งพัฒนาเสริมแทรกเข้ามาใหม่
ความหมายของการจัดการเชิงกลยุทธ์
การจัดการเชิงกลยุทธ์ หมายถึง การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขององค์การในระยะสั้นและระยะยาว จากนั้นจึงวางแผนการดำเนินการและการควบคุมในแนวทางเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้องค์การสามารถดำเนินงานตามพันธกิจอันนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้
เป้าหมายสำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์
1.สร้างและดำรงรักษาความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Capacity) การกำหนดและการดำเนินกลยุทธ์ช่วยให้ธุรกิจมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง
2. สร้างคุณค่า (Create Value) การจัดการเชิงกลยุทธ์ช่วยสร้างคุณค่า (Value) แก่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้น (Shareholder) ตลอดจนสร้างความพอใจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ของธุรกิจ เช่น พนักงาน ผู้ขายวัตถุดิบ และลูกค้า
ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการจัดการเชิงกลยุทธ์
1. ลักษณะธุรกิจที่ดำเนินอยู่ (What business are you in?) ปัจจุบันธุรกิจกำลังทำอะไร อยู่ในอุตสาหกรรมใด และมีสถานะโดยรวมอย่างไร
2. ลักษณะธุรกิจในอนาคต (Where do you want to go?) ความต้องการในอนาคตของธุรกิจ โดยพิจารณาทั้งเป้าหมายระยะยาวและระยะกลาง ประกอบกับความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายนั้น
3. สภาพแวดล้อม (Environment) สถานะและคุณสมบัติของสภาพแวดล้อม ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินงาน การแข่งขัน และการดำรงอยู่ของธุรกิจ
4. การจัดสรรทรัพยากร (Resources Allocation) ปกติทุกองค์การต่างมีทรัพยากรในปริมาณที่จำกัดและแตกต่างกัน จึงต้องมีการกำหนดลำดับความจำเป็นและความสำคัญในการใช้งาน เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์การ
5. การปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ (Objective Achievement) การจัดการเชิงกลยุทธ์จะให้ความสำคัญกับเป้าหมายระดับต่าง ๆ ขององค์การ โดยเฉพาะการบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดขององค์การ
ขอบเขตของการจัดการเชิงกลยุทธ์
1. เป็นการมองกว้างจากจุดที่อยู่สูงที่สามารถเห็นถึงสองวง คือ สภาพแวดล้อมภายนอก และสภาพแวดล้อมภายในองค์การ สัมพันธ์กัน
2. เป็นการมองไกลโดยมีการคาดคะเนเหตุการณ์ต่าง ๆ ไปในอนาคตข้องหน้าในระยะที่ค่อนข้างยาว พร้อมกับการมองลึกเข้าไปในองค์การที่จะสามารถมองเห็นลึกถึงทรัพยากร โครงสร้าง ระบบงานตลอดจนทรัพยากรบุคคลที่จะเป็นผู้ทำงานรวมถึงประเพณีปฏิบัติต่าง ๆ ที่มีอยู่ในองค์การ อันเป็นวัฒนธรรมขององค์การด้วย
3. เป็นการพิจารณาในเชิงกลยุทธ์ ที่จะมีการคาดคะเนวิเคราะห์ทางเลือกต่าง ๆ ที่องค์การจะทุ่มเททรัพยากรทำงานมุ่งไปสู่ความสำเร็จในโอกาสต่าง ๆ ได้เลือกไว้แล้วอย่างดีที่สุด
ประโยชน์ของการจัดการเชิงกลยุทธ์
1. ช่วยให้องค์การสามารถปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้เป็นอย่างดี โดยผู้บริหารจะตื่นตัวและพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งขององค์การให้เข้ากับโอกาสได้อย่างเหมาะสม
2. ช่วยให้องค์การสามารถสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน(competitive advantage)ตลอดจนรักษาสภาพความได้เปรียบทางการแข่งขันไว้ได้
3. ช่วยให้องค์การสามารถปฏิบัติงานได้ผลสำเร็จอย่างมีคุณภาพ บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
4. ช่วยให้บุคลากรมีทิศทางในการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจนเพื่อให้องค์การนั้น อยู่รอดได้ และสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้
5. ช่วยให้องค์การสามารถดำเนินงานในเชิงรุก (proactive) เพื่อที่จะไม่ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับ (reactive) และป้องกันตัว (defensive) มิฉะนั้นองค์การจะต้องเสียเวลาแก้ปัญหาตลอดเวลาและไม่มีเวลาที่จะก้าวรุกไปข้างหน้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียหายต่อองค์การอย่างยิ่ง
6. ช่วยให้องค์การลดความเสี่ยงด้วยการวางแผนโดยอาศัยข้อมูลที่เชื่อถือได้และมีหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจ
7. ช่วยให้สามารถเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรคให้เป็นโอกาสได้
8. ช่วยสร้างผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ด้วยการคิดและการทำงานอย่างมีระบบ มีหลักเกณฑ์และเหตุผล
องค์ประกอบพื้นฐานของกระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์
1. การตรวจสอบสภาพแวดล้อม (environmental scanning)
2. การจัดทำกลยุทธ์ (strategy formulation)
3. การปฏิบัติตามกลยุทธ์ (strategy implementation)
4. การประเมินผลและการควบคุม (evaluation and control)
1.การตรวจสอบสภาพแวดล้อม (environmental scanning)
กระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์ เริ่มต้นจากการศึกษาวิเคราะห์ ตรวจสอบ และประเมินสภาพแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกบริษัท เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบเผยแพร่ให้บุคคลสำคัญภายในบริษัทได้ทราบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อระบุ “ปัจจัยเชิงกลยุทธ์” สำหรับวิธีการตรวจสอบสภาพแวดล้อมที่ง่ายที่สุดคือ การใช้วิเคราะห์ที่นิยมเรียกกันว่า “การวิเคราะห์สวอท” หรือ “SWOT analysis”
2. การจัดทำกลยุทธ์ (Strategy formulation)
การจัดทำกลยุทธ์ คือการจัดทำแผนระยะยาว (long-range plans) เพื่อนำมาใช้ในการบริหารงาน เพื่อให้เหมาะสมกับโอกาสและปัญหาอุปสรรคที่เป็นอยู่ในขณะนั้น รวมทั้งจะต้องสอดคล้องกับจุดแข็งจุดอ่อนของบริษัท การจัดทำแผนกลยุทธ์ประกอบด้วย การกำหนดพันธกิจ ของบริษัท กำหนดวัตถุประสงค์ที่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ การพัฒนากลยุทธ์ และกำหนดนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน
3. การปฏิบัติตามกลยุทธ์ (strategy implementation)
การปฏิบัติตามกลยุทธ์ เป็นกระบวนการดำเนินงานนำกลยุทธ์และนโยบายที่กำหนดไว้เข้าสู่การปฏิบัติ ด้วยการพัฒนาจัดทำเป็นโปรแกรมดำเนินงาน จัดทำงบประมาณ และวิธีการดำเนินงาน ในขั้นนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์การ โครงสร้าง และระบบการจัดการทั้งหมดทั่วทั้งองค์การก็ได้ การปฏิบัติตามกลยุทธ์ โดยทั่วไปแล้วจะเป็นหน้าที่ของผู้จัดการระดับ กลางและระดับล่างเท่านั้น โดยผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้ตรวจสอบ เนื่องจากเป็นแผนงานปฏิบัติการ การปฏิบัติตามกลยุทธ์จึงมักจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจประจำวันในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อนำไป ใช้ในการดำเนินงาน
4. การประเมินผลและการควบคุม (evaluation and control)
การประเมินผลและการควบคุม เป็นการตรวจสอบกิจกรรมและผลการปฏิบัติงานทั้งหมดขององค์การ เพื่อเปรียบเทียบดูว่าผลการปฏิบัติงานจริงกับผลการดำเนินงานที่ตั้งความมุ่งหวังไว้บรรลุผลตามเป้าหมายหรือไม่ ผู้จัดการทุกระดับจะนำข้อมูลที่ได้รับจากการประเมินในขั้นนี้เพื่อนำไปแก้ไขและหาทางแก้ปัญหาต่อไป
นักกลยุทธ์และบทบาทของนักกลยุทธ์
นักกลยุทธ์ (Strategist) หมายถึง ผู้ที่รับผิดชอบต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์การ เนื่องจากเป็นผู้กำหนดกลยุทธ์ขององค์การ นักกลยุทธ์มักเป็นผู้บริหารขององค์การที่มีหน้าที่ต่าง ๆ ในองค์การ เช่น ประธานบริษัท กรรมการผู้บริหาร ผู้อำนวยการบริหาร เจ้าของ ผู้ประกอบการ เป็นต้น มีความรับผิดชอบหลักอยู่ 3 ประการ คือ
1. สร้างสรรและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
2. สร้างความผูกพันและรู้สึกในความเป็นเจ้าขององค์การ
3. รักษาความ สมดุลระหว่างความมั่นคงและนวัตกรรมที่เกิดขึ้น
นักกลยุทธ์ขององค์การ
1. ผู้บริหารระดับสูง
ผู้บริหารระดับสูง (chief executive office) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า ซีอีโอ (CEO) เป็นนักกลยุทธ์ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์หลักขององค์การนั้น ๆ โดยตรง ตลอด จนก่อให้เกิดการนำแผนกลยุทธ์และแผนงานต่างๆ ไปปฏิบัติ
2. ผู้บริหารฝ่ายดำเนินงาน
ผู้บริหารฝ่ายดำเนินงาน (line manager) หรืออาจเรียกว่าเป็นฝ่ายปฏิบัติการเป็น ผู้บริหารระดับกลางและระดับต้น ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนกกลยุทธ์ เนื่องจากเป็นปฏิบัติงานโดยตรง หากผู้บริหารเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนแล้ว อาจจะมีปัญหาการไม่ยอมรับแผนดังกล่าวอันจะทำให้องค์การไม่สามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้ รวมทั้งอาจไม่ได้รับ ข้อมูลจริงที่เกิดจากการปฏิบัติงานได้
3.ผู้บริหารฝ่ายให้คำปรึกษา
ผู้บริหารฝ่ายให้คำปรึกษา (staff manager) เป็นผู้บริหารที่ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินกลยุทธ์โดยตรง แต่จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลและคำปรึกษาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีบทบาทหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนเพื่อให้แผนที่วางสามารถนำไปใช้ปฏิบัติโดยไม่เกิดปัญหาหรือเกิดปัญหาน้อยที่สุด นักกลยุทธ์จะสามารถดำเนินบทบาทของตนเองได้ดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของนักกลยุทธ์
ขอบคุณข้อมูลเพื่อการศึกษา
อาจารย์ณัฐธิดา ศรีราชยา
การศึกษา
ปริญญาตรี(BS) ภาควิชาวัสดุศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์และสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท (MS)Polymer Science The Pretroleum and Petrochemical College Chulalongkorn University
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น