ค่านิยม
ค่านิยม
ค่านิยมเป็นสิ่งที่คนในสังคมยอมรับว่ามีคุณค่า การปลูกฝังค่านิยมในสังคมไทยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมซึ่งเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคลในการดำเนินชีวิตระหว่างสมาชิกในสังคมให้สอดคล้องสัมพันธ์กันช่วยเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่สังคม เมื่อมีการรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาทำให้มีผลกระทบต่อ การดำเนินชีวิต จึงจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังค่านิยมไทย ให้เยาวชนได้รับรู้และสืบทอดต่อไป
ความหมายของค่านิยม
ค่านิยม ( Value ) หมายถึง สิ่งที่สังคมหนึ่งๆเห็นว่าเป็นสิ่งมีค่า น่ายกย่อง น่ากระทำ หรือเห็นว่าถูกต้อง และเป็นแนวทางที่คนในสังคมยึดถือไว้เพื่อประพฤติปฏิบัติ ค่านิยมแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ค่านิยมของบุคคล ซึ่งบุคคลจะแสดงออกให้เห็นได้จากการตัดสินใจของตนเอง ทั้งนี้ย่อมแตกต่างไปตามความถนัดและความสนใจของแต่ละบุคคล
2. ค่านิยมของกลุ่มหรือค่านิยมของสังคม ซึ่งชี้ให้เป็นถึงการเลือกสรร การยกย่อง และสิ่งที่บุคคลทั่วไปในสังคมปรารถนาว่ามีอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้สมาชิกในสังคมยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ สืบทอดจนกลายเป็นวัฒนธรรม เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ากระทำน่ายกย่อง
ความสำคัญของค่านิยม
1.ค่านิยมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคม สังคมจะเจริญก้าวหน้าหรือเสื่อมขึ้นอยู่กับค่านิยมของคนในสังคมนั้นๆ การสร้างค่านิยมที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น การเห็นอกเห็นใจกัน การมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การปลูกฝังให้มีความรัก จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคม
2.ค่านิยมมีผลกระทบต่อความเจริญและความเสื่อมของสังคม ตลอดจนความมั่นคงของชาติ สังคมจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว คนในสังคมนั้นต้องมีค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสม เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันหมั่นเพียร ความมีระเบียบวินัย เป็นต้น ส่วนค่านิยมที่ไม่เหมาะสม ย่อมทำให้สังคมนั้นเสื่อมและเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น ไม่มีวินัย เกียจคร้าน เล่นการพนัน เป็นต้น
3.ค่านิยมมีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะค่านิยมบางอย่างได้สร้างแกนของวัฒนธรรม เช่น ค่านิยมความรักอิสรภาพของไทย ทำให้ชาติไทยรักษาความเป็นเอกราชมาได้จนถึงทุกวันนี้ ความอิสรเสรีจึงเป็นแกนของวัฒนธรรม
4.ค่านิยมบางอย่างมีผลจากสภาพแวดล้อมของสังคม ค่านิยมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เช่น คนไทยในสมัยโบราณนิยมสร้างวัด เพราะมีความเชื่อได้บุญกุศลมาก นอกจากนี้วัดยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของสังคม ปัจจุบันได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกค่านิยมในการสร้างวัดเปลี่ยนไป
ค่านิยมทั่วไปในสังคมไทย
1.นิยมความร่ำรวย มั่งคั่ง คนร่ำรวยจะเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในสังคม คนรวยจะต้องการสิ่งใดย่อมใช้เงินซื้อได้ตามความประสงค์ ดังนั้นทุกคนจึงดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคั่ง เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินทอง เป็นต้น
2.นิยมอำนาจ สังคมไทยยกย่องผู้มีอำนาจ ให้ความเคารพและเกรงกลัวบารมี คนไม่มีอำนาจ คนในสังคมจะไม่เกรงใจ ดังนั้นคนไทยอยากจะเป็นคนที่มีอำนาจ เพื่อให้ได้รับการยกย่องและเกรงกลัวจากคนในสังคม ซึ่งการแสวงหาอำนาจอาจจะทำในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้เงินซื้อเสียงและตำแหน่งต่างๆ เป็นต้น
3. เคารพผู้อาวุโส ผู้อาวุโสหมายถึง ความอาวุโสด้านอายุ ตำแหน่งหน้าที่การงาน คุณวุฒิ ชาติสกุล การเคารพผู้อาวุโสได้รับการปลูกฝังสืบต่อกันมาจนเป็นวิถีชีวิตที่พึงปฏิบัติในสังคมไทย เช่น สถาบันครอบครัวจะอบรมสั่งสอนให้เคารพพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย สถาบันการศึกษาจะอบรมให้เคารพครู อาจารย์ รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่ เป็นต้น
4.รักสนุก กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของสังคมไทย มักสอดแทรกความสนุกสนานแฝงไว้ เช่น ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีโกนจุก ประเพณีรับน้องใหม่ งานฉลองวันเกิด เป็นต้น
5. บริโภคนิยม คนไทยส่วนใหญ่สนใจเรื่องบริโภคมาก ชอบเสาะแสวงหาอาหารรับประทานเป็นพิเศษ นิยมบริโภคอาหารรสจัด อาหารสด และอาหารแปลกๆ เช่น ผัดเผ็ดงู ยำมันสมองหมู ต้มซุปหางวัว เป็นต้น
6.นิยมความหรูหรา คนไทยนิยมแสดงออกที่ความหรูหรา มีหน้ามีตาในสังคม เพื่อแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตนมีสถานภาพทางสังคมสูง เช่น จัดงานใหญ่ แต่งกายด้วยของมีค่า มีเครื่องใช้ที่ทันสมัยและราคาแพง เป็นต้น
7. นิยมเครื่องรางและโชคลาง เป็นค่านิยมเรื่องความเชื่อและการนับถือผีสางเทวดามักนิยมทำเครื่องราง ปะพรมน้ำมนต์เพื่อขจัดภัยต่างๆ เพื่อความสบายใจและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อประสบภัยจะมีการสะเดาะเคราะห์และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยการดูฤกษ์ยาม เช่น การเดินทาง การขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
8.นิยมการทำบุญสร้างวัด ปิดทองฝังลูกนิมิตร คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าการทำบุญจะส่งผลดีให้ตนทั้งชาตินี้และชาติหน้า ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไป คนทำบุญลดน้อยลง และการทำบุญเริ่มนิยมทำกันหลายรูปแบบ เช่น การเลี้ยงเด็กพิการ การสงเคราะห์เด็กกำพร้า การสร้างโรงเรียน เป็นต้น9. นิยม 9.พูด หรือบอกเล่าเกินความเป็นจริง เป็นการสร้างบรรยากาศให้ตื่นเต้นมีรสชาติสนุกสนานและยกตนเองให้มีค่าขึ้นเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหาย ดังนั้น สุภาษิตไทยจึงกล่าวไว้ว่า สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น ฟังหู ไว้หู เพื่อเตือนใจให้เห็นข้อเท็จจริงด้วยตนเอง
ขอบคุณข้อมูลเพื่อการศึกษา
อาจารย์ณัฐธิดา ศรีราชยา
การศึกษา
ปริญญาตรี(BS) ภาควิชาวัสดุศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์และสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาโท (MS)Polymer Science The Pretroleum and Petrochemical College Chulalongkorn University
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น